วันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การอ่านวิเคราะห์


 หลักการวิเคราะห์

1.พิจารณาว่าเรื่องนั้นใช้รูปแบบใด เช่น เป็นนิทาน เป็นเรื่องยาว เป็นร้อยกรอง เป็นบทละคร เรื่องสั้น บทความ                                            2. แยกเนื้อเรื่องให้ได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร          3. แยกพิจารณาให้ละเอียดว่า เนื้อหาประกอบด้วยอะไรบ้าง              4. พิจารณาว่าใช้กลวิธีในการนำเสนอเรื่องอย่างไร                          5. ลำดับเหตุการณ์ ตามเหตุผลคือ ลำดับจาเหตุไปหาผล หรือจากผล ไปหาเหตุ หรือตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหลัง ความสำคัญมากไปหาความสำคัญน้อย สิ่งที่ใก้ลตัวไปหาไกลตัวจากขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา จากเหนือไปใต้หรือใต้ไปเหนือ จากสถานที่ใหญ่ไปหาสถานที่เล็กจากส่วนรวมไปหาส่วนย่อย เป็นต้น

 6. พิจารณาความคิดที่ผู้เขียนต้องสื่อให้ผู้อ่านทราบและความหมายที่แฝงอยู่ในเนื้อเรื่องหรือข้อความนั้น เมื่ออ่านพิจารณาข้อความ บทความ เนื้อเรื่อง เสร็จแล้วจึงตอบคำถาม ข้อควรระวังคือ คำตอบที่ให้เลือกนั้นจะคล้ายคลึงกันมาก บางครั้งดูเหมือนว่าคำตอบเป็นคำตอบที่ถูกต้องทุกข้อ จึงต้องใช้วิจารณญาณ เลือกคำตอบที่ถูกที่สุด
        การวิเคราะห์เรื่องที่อ่านทุกชนิด สิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือ การพิจารณาถึงการใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาว่ามีความเหมาะสมกับระดับและประเภทของงานเขียนหรือไม่ เช่น ในบทสนทนาก็ไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นแบบแผน ควรใช้สำนวนให้เหมาะสมกับสภาพจริงหรือเหมาะแก่กาลสมัยที่เหตุการณ์ในหนังสือนั้นเกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้น การอ่านวิเคราะห์จึงต้องใช้เวลาอ่านมาก และยิ่งมีเวลาอ่านมากก็ยิ่งมีโอกาสวิเคราะห์ได้ดีมากขึ้น การอ่านในระดับนี้ ต้องรู้จักตั้งคำถามและจัดระเบียบเรื่องราวที่อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องและความคิดของผู้เขียนต้องการ
 การวิเคราะห์การอ่าน
        การวิเคราะห์การอ่านประกอบด้วย           
  1. แบบ
  2. กลวิธีในการประพันธ์
  3. เนื้อหาหรือเนื้อเรื่อง
  4. สำนวนภาษา

 กระบวนการวิเคราะห์

        1.ดูรูปแบบของงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น บทร้อยกรอง หรือบทความจากหนังสือพิมพ์
        2.แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร
        3.แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบกันอย่างไร หรือประกอบด้วยอะไรบ้าง
         4.พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนให้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร

 การอ่านเชิงวิเคราะห์ในขั้นต่าง ๆ

    การอ่านวิเคราะห์คำ

        การอ่านวิเคราะห์คำ เป็นการอ่านเพื่อให้ผู้อ่านแยกแยะถ้อยคำในวลี ประโยค หรือข้อความต่าง ๆ โดยสามารถบอกได้ว่าคำใดใช้อย่างไร ใช้อย่างไร ใช้ผิดความหมาย ผิดหน้าที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจนอย่างไร ควรจะต้องหาทางแก้ไขปรับปรุงอย่างไรเป็นต้น เช่น
  1. อย่าเอาไปใช้ทับกระดาษ
  2. ที่นี่รับอัดพระ
  3. เขาท่องเที่ยวไปทั่วพิภพ
  4. เจ้าอาวาสวัดนี้มรณกรรมเสียแล้ว

 การอ่านวิเคราะห์ประโยค

        การอ่านวิเคราะห์ประโยค เป็นการอ่านเพื่อแยกแยะประโยคต่างๆ ว่าเป็นประโยคที่ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ใช้ประโยคผิดไปจากแบบแผนของภาษาอย่างไร เป็นประโยคที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่ มีหน่วยความคิดในประโยคขาดเกินหรือไม่ เรียงลำดับความในประโยคที่ใช้ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ใช้ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็นหรือใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ชัดเจนหรือไม่ เมื่อพบข้อบกพร่องต่างๆ แล้วก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น
  1. สุขภาพของคนไทยไม่ดีส่วนใหญ่
  2. การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯเกิดการจลาจล
  3. ทุกคนย่อมประสบความสำเร็จท่ามกลางความขยันหมั่นเพียร
  4. เขามักจะเป็นหวัดในทุกครั้งที่ฝนเริ่มตก

 การอ่านวิเคราะห์ทัศนะของผู้แต่ง

        ผู้อ่านต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าผู้เขียนเสนอทัศนะมีน้ำหนักเหตุผลประกอบข้อเท็จจริงน่าเชื่อถือเพียงใด เป็นคนมองโลกในแง่ใด เป็นต้น

 การอ่านวิเคราะห์รส

        การอ่านวิเคราะห์รส หมายถึง การอ่านอย่างพิจารณาถึงความซาบซึ้งประทับใจที่ได้จากการอ่าน วิธีการที่จะทำให้เข้าถึงรสอย่างลึกซึ้ง คือการวิเคราะห์รสของเสียงและรสของภาพ
        4.1 ด้านรสของเสียง ผู้อ่านจะรู้สึกได้ชัดจากการอ่านออกเสียงดังๆไม่ว่าจะเป็นการอ่านอย่างปกติหรือการอ่านทำนองเสนาะ จึงจะช่วยให้รู้สึกถึงความไพเราะของจังหวะ และความเคลื่อนไหว ซึ่งแฝงอยู่ในเสียง ทำให้เกิดความรู้สึกไปตามท่วงทำนองของเสียงสูงต่ำจากเนื้อเรื่องที่อ่าน
        4.2 ด้านรสของภาพ เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วเกิดความเข้าใจเรื่อง ในขณะเดียวกันทำให้เห็นภาพด้วย เป็นการสร้างเสริมให้ผู้อ่านได้เข้าใจความหมาย การเขียนบรรยายความด้วยถ้อยคำไพเราะ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ก่อให้เกิดภาพขึ้นในใจผู้อ่าน ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและเข้าใจความหมายของเรื่องได้ดียิ่งขึ้น

 การอ่านวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหาและการตีความเนื้อหาของข้อความ

        การอ่านเชิงวิเคราะห์ ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา และการตีความเนื้อหาของหนังสือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
         5.1การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา มีหลักปฏิบัติดังนี้
  • จัดประเภทหนังสือตามชนิดและเนื้อหา หนังสือแต่ละประเภทมีวิธีอ่านต่างกัน ก่อนอ่านต้องวิเคราะห์รู้ว่า หนังสือเล่มนั้นอยู่ในประเภทใด การแบ่งประเภทจะดูแต่ชื่อเรื่องหรือลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องสำรวจเนื้อหาด้วย อย่างไรก็ตาม ชื่อเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ใช้้เป็นแนวทางได้ เพราะผู้เขียนย่อมต้องพยายามตั้งชื่อเรื่องให้ตรงแนวเขียนหรือจุดมุ่งหมายในการเขียนของตนให้มากที่สุด
  • สรุปให้สั้นที่สุดว่า หนังสือนั้นกล่าวถึงอะไร หนังสือที่ดีทุกเล่มต้องมีเอกภาพ มีการจัดองค์ประกอบของส่วนย่อยอย่างมีระเบียบ ผู้อ่านต้องพยายามสรุปภาพดังกล่าวออกมาเพียง 1-2 ประโยคว่า หนังสือเล่มนั้นมีอะไรเป็นจุดสำคัญหรือเป็นแก่นเรื่องแล้วจึงหาความสัมพันธ์กับส่วนสำคัญต่อไป
  • กำหนดโครงสังเขปของหนังสือ เมื่ออ่านต้องตั้งประเด็นด้วยว่า จากเอกภาพของหนังสือเล่มนั้นมีส่วนประกอบสำคัญบ้าง ส่วนที่สำคัญๆสัมพันธ์กันโดยตลอดหรือไม่ และแต่ละส่วนก็มีหน้าที่ของตน สนับสนุนซึ่งกันและกันหรือไม่
  • กำหนดปัญหาที่ผู้เขียนต้องการแก้ ผู้อ่านควรพยายามอ่านและค้นพบว่าผู้เขียนเสนอปัญหาอะไร อย่างไร มีปัญหาย่อยอะไร และให้คำตอบไว้ตรงๆหรือไม่ การตั้งปัญหาเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เข้าใจเรื่อง
แจ่มแจ้ง ยิ่งตั้งปัญหาได้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ยิ่งเข้าใจได้เพิ่มขึ้นเพียงนั้น
         5.2 การตีความเนื้อหาของหนังสือ การตีความเป็นสิ่งที่ผู้อ่านทำความเข้าใจ ความคิดของผู้เขียน พิจารณาวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้บอกความหมายหรือนัยของข้อความที่เขียนออกมาตรงๆ แต่ผู้อ่านต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทของเรื่องเป็นอย่างดี จึงจะตีความได้ถูกต้อง การทำความเข้าใจความคิดของผู้เขียนนั้น ไม่ว่าความคิดจะถูกต้องหรือไม่เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม แต่การพยายามเข้าใจเช่นนั้นทำให้เราไม่วิจารณ์ผู้เขียนอย่างไม่ยุติธรรม แต่จะพิจารณาทั้งข้อดี ข้อบกพร่อง ของงานเขียนนั้นอย่างแจ่มแจ้ง การตีความเนื้อหาของหนังสือมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้
  • ตีความหมายของคำสำคัญ และค้นหาประโยคสำคัญที่สุด ผู้อ่านต้องพยายามเข้าใจคำสำคัญและเข้าใจประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนเสนอ เพื่อเข้าใจความคิดของผู้เขียน
  • สรุปความคิดสำคัญของผู้เขียน โดยพิจารณาว่าประโยคใดเป็นเหตุ ประโยคใดเป็นผลประโยคใดเป็นข้อสรุป ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้สรุปความคิดออกมาให้เห็นชัดเจน แต่ผู้อ่านต้องพยายามสรุปออกมาให้ได้
  • ตัดสินว่าอะไรคือการแก้ปัญหาของผู้เขียน เมื่อผู้อ่านตีความสำคัญให้ตรงกับผู้เขียน เข้าใจความคิดสำคัญของผู้เขียน และสรุปความคิดของผู้เขียนได้แล้ว ผู้อ่านก็จะวิเคราะห์หรือตัดสินได้ว่า จากเรื่องราวหรือเหตุผลต่างๆที่ผู้เขียนนำมาเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผลหนักแน่น น่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด เพื่อนำไปสู่การวิจารณ์หนังสือเรื่องนั้น ๆ ต่อไป
  •                                  
  • รูปภาพ ท่องเที่ยว ทั่วโลกกับวิวธรรมชาติ สวยๆงามๆ

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การอ่านความตีความ



1. ความเข้าใจจุดประสงค์หรือเจตนารมณ์ของผู้เขียนและความหมายของสิ่งที่ผู้เขียนได้เขียน
        การแสดงเจตนาของผู้เขียนนั้นมีทั้งแสดงไว้ โดยชัดเจนและโดยซ่อนเร้น การแสดงเจตนาโดยชัดเจน ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ทันที โดยไม่ต้องใช้ความคิด พิจารณามากมายนัก  การแสดงเจตนาโดยซ่อนเร้น คือ ไม่บอกเจตนาตรง ๆ กล่าวถึงเรื่องหนึ่งแต่ มีความหมายถึงสิ่งหนึ่งก็ได้  การเข้าใจความหมายของ เจตนาดังกล่าว  ผู้อ่านจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ และเข้าถึงความหมายของคำและข้อความนั้น ๆ เสียก่อน

2. แนวคิดสำคัญที่ได้จากการอ่าน
         ที่ผู้เขียนอาจเสนออย่างจงใจหรือไม่จงใจก็ได้  การค้นหาสารเป็นขั้นตอนสำคัญในการเข้าถึงเรื่องที่อ่าน  ซึ่งผู้อ่านต้องมีความรู้ ความสามารถในการอ่านและเข้าใจโครงสร้างของงานประพันธ์แต่ละประเภทให้ชัดเจน  การค้นหาสารำสำคัญมิใช่การแปลความหมายของถ้อยคำอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น แต่ต้องจับเนื้อความให้ ได้ครบถ้วน  แยกแยะ  ส่วนที่เป็นความรู้  ความคิด และความรู้สึก  ส่วนใดสำคัญ  ส่วนใดสำคัญรองลงมา  รวมทั้งเสียงของคำ  มีท่วงทำนอง  ลำนำ และจังหวะเป็นอย่างไร
3. น้ำเสียงของผู้เขียนและสีสันบรรยากาศในการเขียน 
           ซึ่งอาจเป็นน้ำเสียงแสดงอารมณ์ขัน ล้อเลียน   น้ำเสียงอ่อนโยน นุ่มนวล  น้ำเสียงประชดประชัน เสียดสี เยาะเย้ย  น้ำเสียงโกรธเกรี้ยว  แสดงอารมณ์ร้อนแรง   น้ำเสียงโศกเศร้า สลดหดหู่ ว้าเหว่  น้ำเสียงปลุกเร้าใจ  น้ำเสียงเสียดาย  อาลัยอาวรณ์  น้ำเสียงชื่นชม ยกย่อง สรรเสริญ   และน้ำเสียงจริงจัง เคร่งขรึม   ซึ่งบางครั้งในงานเขียนเดียวกันอาจจะ มีน้ำเสียงหลายลักษณะปะปนกัน    
ลักษณะของข้อเขียนที่ต้องใช้การอ่านแบบตีความ
     1. เป็นข้อเขียนที่ใช้คำที่มีความหมายโดยนัย หรือความหมายแฝง ซึ่งหมายถึงความหมายในเชิงเปรียบเทียบ หรือความหมายที่ชักนำความคิดให้เกี่ยวโยงไปถึงสิ่งอื่น
     2. เป็นข้อเขียนที่มีการเปรียบเทียบ  หรือใช้โวหารเชิงเปรียบเทียบ
     3. เป็นข้อเขียนที่ใช้สัญลักษณ์  หมายถึงข้อเขียนที่ผู้เขียนกล่าวถึงสิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่ง
ขั้นตอนของการอ่านตีความ
       
       การอ่านตีความนั้น มักนำไปใช้ในงานเขียนที่มีความหมายซ่อนไว้ระหว่างบรรทัด ผู้อ่านต้อง ใส่ใจกับถ้อยคำที่ผู้เขียนเลือกสรรมาใช้ 
             1. สำรวจงานเขียนนั้นด้วยการอ่านอย่างคร่าว ๆ ว่างานเขียนนั้นเกี่ยวกับเรื่องใด เป็นร้อยแก้ว หรือร้อยกรอง หรืองานเขียนประเภทใด เช่น  เป็นคำประพันธ์  นวนิยาย เรื่องสั้น บทความ กวีนิพนธ์ หรือเป็นงานเขียนสั้น ๆ แสดงคติสอนใจ

          
 2. อ่านอีกครั้งอย่างละเอียดเพื่อพิจารณาเนื้อหาว่ามีใจความสำคัญกล่าวถึงเรื่องใด มีข้อความ ส่วนใดกล่าวถึงข้อเท็จจริง ส่วนใดเป็นการแสดงทรรศนะของผู้เขียน ส่วนใดเป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึก 

           
3. วิเคราะห์ถ้อยคำ อาจมีบางคำที่มีความหมายเฉพาะ เช่นเป็นสัญลักษณ์ หรือมีถ้อยคำที่เป็น การกล่าวเชิงเปรียบเทียบ ด้วยการใช้ภาพพจน์ หรือเป็นสำนวนโวหาร เป็นคำที่มีความหมายหลายนัย ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้อ่านใช้ความหมายจากถ้อยคำในบริบทนั้นมาพิจารณาประกอบเพื่อให้เข้าใจความหมาย ได้มากชัดเจนยิ่งขึ้น

           
4. พิจารณารสของคำเพื่อประมวลหาน้ำเสียงของผู้เขียน อาจเป็นน้ำเสียงเชิงสั่งสอน น้ำเสียงแสดงการประชดประชัน น้ำเสียงแสดงความภูมิใจ ยินดี หรือเศร้าสลด เป็นต้น น้ำเสียงเหล่านี้จะสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายของผู้เขียนที่ต้องการสื่อสารมาให้ผู้อ่านพิจารณาใคร่ครวญหรือคิดคล้อยตาม

         
  5. สรุปสารที่ได้จากการตีความข้อเขียนนั้น ๆ การอ่านตีความ  ผู้อ่านจะต้องเข้าใจจุดประสงค์  สาร  และน้ำเสียงที่อยู่ในงานประพันธ์นั้น  เพื่อที่จะได้เข้าใจความคิดเห็น  ประสบการณ์  จินตนาการ ฯลฯ  ของผู้เขียนที่ส่งผ่านงานประพันธ์นั้น การอ่านตีความควรตีความทั้ง 2 ด้านควบคู่กันไป คือ ตีความด้านเนื้อหา และ ตีความด้านน้ำเสียง จึงจะทำให้เข้าใจสารนั้นได้อย่างถ่องแท้  เช่น “ ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

การอ่านให้ผู้อื่นฟัง

         การอ่านให้ผู้อื่นฟัง อันได้แก่ ทักษะการหายใจ ทักษะการใช้เสียงและทักษะการทรงตัว เป็นทักษะพื้นฐานให้การอ่านให้ผู้อื่นฟังโดยทั่วไป แต่ถ้าเป็นการอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมนุมชนที่เป็นทางการ ยังต้องมีทักษะอื่น ๆ อีกหลายประการ อาทิ
       
 1) การแต่งกาย
ผู้ทำหน้าที่อ่านทางวิทยุโทรทัศน์ มักเป็นรายการ ข่าว รายการอภิปรายสัมภาษณ์ซึ่งเป็นทางการหรือกึ่งทางการ การแต่งตัวจึงควรพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ควรให้หรูหรามากนักเพราะมิใช่การแสดงละคร จุดสนใจของผู้ชมอยู่ที่เนื้อหาของการอ่านมิใช่ที่เสื้อผ้าของผู้อ่านสีที่ใช้ไม่ควรลวดลายมากเพราะจะทำให้ผู้ชมตาลาย ไม่ควรใช้เนื้อผ้าที่เป็นมันระยับหรือเครื่องประดับที่แวววาวเกินไป เพราะจะสะท้อนแสงมาก การแต่งหน้าควรให้กลมกลืนกับผิวสิ่งเหล่านี้แม้ไม่เกี่ยวกับการอ่านโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพราะมีผลต่อบุคลิกภาพของผู้อ่านด้วยการอ่านในที่ชุมนุมชน เช่น การอ่านสุนทรพจน์ ก็อาศัยหลักการแต่งกายเช่นเดียวกันคือ สุภาพ ไม่ฉูดฉาดบาดตาจนเกินไป
        
2) กิริยาอาการ
การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์ ผู้ชมจะสังเกตสีหน้าและกิริยาอาการของผู้อ่านได้อย่างถนัดผู้อ่านควรวางสีหน้าอย่างสบายๆ อาจยิ้มน้อย ๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติการเคลื่อนไหวใบหน้าหรือร่างกายควรนุ่มนวล ไม่หลุกหลิก สายตาควรมองกล้องเป็นส่วนใหญ่ผู้ชมจะได้รู้สึกว่าพูดกับตน การวางมือ การนั่ง หรือการยืนควรสุภาพและผ่อยคลาย ไม่ระมัดระวังจนกลายเป็นการเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่สบายตา
        
3) การใช้สายตา
การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมชน ต่างกับการอ่านทางวิทยุกระจายเสียงหรืออ่านในกลุ่มมิตรสหาย การอ่านที่ปรากฏอย่างเป็นทางการนั้น ผู้อ่านจะต้องเงยหน้าสบตาผู้ชมเป็นระยะๆ ฉะนั้น จึงต้องมีทักษะการกรวดสายตาอ่านอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษมิใช่ก้มอ่านตลอดหรือเงยหน้าแล้วเสียจังหวะการอ่าน ไม่ว่าจะก้มหน้าหรือเงยหน้า การอ่านจะต้องราบรื่น ไม่สะดุดหรือติดขัดจนเป็นที่สังเกตได้ หากมีอุปสรรคในการอ่าน เช่น กระแอมหรือสำลัก ควรกล่าวคำขออภัยแล้วอ่านต่อไป ไม่ควรตกใจจนลืมว่าอ่านถึงที่ใด เพราะจะทำให้หยุดชะงักอีก

การอ่านในใจ


การอ่านในใจเป็นการอ่านที่ต้องไม่ออกเสียงในการอ่าน  ผู้อ่านอ่านตัวหนังสือแล้วเก็บความ  แปลความตามความเข้าใจของผู้อ่าน  จุดประสงค์ของการอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อรับสารเพียงประการเดียว
หลักการอ่านในใจมีดังนี้
     1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่าน  
          การกำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่านให้ชัดเจนก็เพื่อให้อ่านได้ตรงจุดประสงค์  เช่น  ถ้าอ่านเพื่อความรู้ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และจดจำเรื่องให้ได้  ถ้าอ่านเพื่อความบันเทิงก็ไม่จำเป็นต้องจำเรื่องทั้งหมดให้ได้เพียงแค่รู้สึกสนุกสนานและผ่อนคลายเมื่ออ่านเท่านั้น  และถ้าอ่านเพื่อนำไปใช้ก็ต้องอ่านอย่างละเอียด  และทำความเข้าใจให้ชัดเจนเพื่อจะสามารถนำไปใช้หรือปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
     2. มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
          ถ้าผู้อ่านมีประสบการณ์หรือรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านจะทำให้เข้าใจเรื่องได้ดีขึ้น  เช่น  เมื่ออ่านเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ควรมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยอยุธยาบ้าง  เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย เป็นต้น
     3. รู้และเข้าใจความหมายของคำศัพท์หรือสำนวน
          การรู้ความหมายของคำศัพท์หรือสำนวนที่พบในการอ่านจะช่วยให้เข้าใจข้อความที่อ่านได้มากขึ้น  เช่น  “สิ่งที่สำคัญที่สุดในจริยวัตรของมนุษย์คือ ต้องพยายามที่จะไม่ให้เวลาล่วงไปโดยเสียประโยชน์  เราต้องตีราคาคุณค่าของเวลาให้สูงมาก  การเสียเวลาก็เท่ากับเสียทรัพย์  เสียโอกาส  เสียหนทางแห่งความก้าวหน้า  และเป็นการสูญเสียที่เราไม่สามารถจะโทษผู้อื่นได้  นอกจากตัวเราเอง
          คำศัพท์         จริยวัตร        หมายถึง     หน้าที่ที่พึงประพฤติปฏิบัติ
                               ล่วง              หมายถึง     ผ่านข้ามจากจุดหนึ่งเข้าไปยังอีกจุดหนึ่ง
          สำนวน           ตีราคา          หมายถึง     ประเมินค่า  ให้ราคาสิ่งนั้น ๆ
          นอกจากการเข้าใจคำศัพท์และสำนวนที่จะช่วยให้เราอ่านได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว  บางครั้งในข้อความที่เราอ่านก็มีคำศัพท์บางคำที่เราไม่พบในพจนานุกรม  แต่ข้อความแวดล้อมในเรื่องที่เราอ่านนั้นก็ช่วยให้เราสามารถเข้าใจคำศัพท์นั้นได้  คำหรือข้อความแวดล้อมที่ช่วยเราให้เข้าใจความหมาย  เราเรียกว่า  “บริบท”  เช่น
                              คำเช้าเอากรวดกวาดเตียน          เหนื่อยยากพากเพียร
                    เรียนธรรมบำเพ็งเคร่งครัด
(กาพย์พระไชยสุริยา  สุนทรภู่)
          เราอาจเข้าใจความหมายของคำว่า  “กรวด”  ได้ว่าหมายถึง  ไม้กวาด  เมื่อพอคำกริยา “กวาด”  ที่ตามมา  ส่วนคำว่า “บำเพ็ง”  เราก็เข้าใจว่าหมายถึง บำเพ็ญ  ปฏิบัติธรรม  จากคำว่า  เรียนธรรม  ที่อยู่ในวรรคเดียวกัน
     4. จับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้
          เมื่ออ่านเรื่องแล้วสามารถตอบคำถามได้ว่า  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  เช่น
          “นักล้วงกระเป๋าชอบสถานที่ซึ่งมีผู้คนเบียดเสียดกันจริงหรือ  คำตอบคือ  ไม่จำเป็น  มนุษย์มีสัญชาตญาณที่ไม่ต้องการให้ใครมารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว  ดังนั้นในบริเวณแออัด  ผู้คนจึงมักระวังตัวมากขึ้น  นักล้วงกระเป๋ามืออาชีพชอบเหยื่อซึ่งปล่อยตัวตามสบายและกำลังจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากว่า
          ร้านขายเสื้อผ้าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับนักล้วงกระเป๋าอย่างผม  เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในร้านสามารถใช้เป็นฉากกำบังการทำงานได้อย่างดี  แถมลูกค้าจำนวนมากเดินพลุกพล่านหมุนเวียนบริเวณชั้นวางสินค้าตลอดเวลา  ซึ่งช่วยหันเหความสนใจเวลาพวกเขาหยิบคลี่และพับเก็บสินค้าเข้าที่  หากมียามรักษาความปลอดภัยในเครื่องแบบเดินตรวจตราไปมาให้เห็นจะยิ่งเป็นผลดี  เพราะเหยื่อจะละเลยไม่ระมัดระวังซึ่งเปิดโอกาสให้นักล้วงทำงานง่ายขึ้น”
(กลเม็ดนักล้วงกระเป๋า  รีดเดอร์ส  ไดเจสท์  สรรสาระ)
          ใจความสำคัญของเรื่องคือ  นักล้วงกระเป๋าชอบล้วงกระเป๋าในที่ที่เหยื่อปล่อยตัวตามสบายและกำลังจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ  เช่น  ในร้านขายเสื้อผ้า เป็นต้น
     5. วินิจฉัยสารหรือตีความเรื่องที่อ่านได้
          การตีความเรื่องที่อ่าน  คือ  สามารถพิจารณาเรื่องที่อ่านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก  การตีความต้องวิเคราะห์และบอกได้ว่าสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านทราบมีข้อคิดหรือเจตนาอื่นในเรื่องนั้นอย่างไร  ซึ่งทำได้หลายวิธี  เช่น  การอนุมานหรือสรุปความจากเรื่องที่อ่าน  การทำนายเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น  การคัดเลือกและจัดรวบรวม  เป็นต้น  ตัวอย่างการตีความเรื่องที่อ่าน  เช่น
โคควายวายชีพได้      เขาหนัง
                                        เป็นสิ่งเป็นอันยัง                 อยู่ไซร้
                                        คนเด็ดดับสูญสัง-               ขารร่าง
                                        เป็นชื่อเป็นเสียงได้             แต่ร้ายกับดี
(โคลงโลกนิติ  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาเดชาดิศร)
        ตีความจากเรื่องที่อ่านได้ว่า  เราควรทำความดีเพราะสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากที่เราตายไปแล้วคือความดีและความชั่วที่เราได้ทำไว้เท่านั้น
        การอ่านในใจเป็นทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ  เมื่อเราฝึกอ่านอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เรามีพัฒนาการในการอ่านได้ดีขึ้นเป็นลำดับ  และนำไปสู่การอ่านในระดับที่สูงขึ้นต่อไป

จุดมุ่หมายของการอ่าน

  การอ่านจากหนังสือและสื่อแต่ละครั้งของแต่ละคนจะมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันออกไป อาจจำแนกได้กว้าง ๆ ดังนี้
        aniblue02_tiltupdown_next.gif๑)  การอ่านเพื่อหาความรู้
        การอ่านเพื่อหาความรู้ ได้แก่ การอ่านหนังสือจากหนังสือประเภทตำราทางวิชาการ สารคดีทางวิชาการ การวิจัยประเภทต่าง ๆ หรือการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การอ่านจากหนังสือที่มีสาระเดียวกันควรอ่านจากผู้เขียนหลาย ๆ คน เพื่อเป็นการตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำของเนื้อหา ผู้อ่านจะได้มีมุมมองที่กว้างขึ้น มีความรอบรู้ได้แนวคิดที่หลากหลาย และไม่ควรอ่านเฉพาะในเนื้อหาวิชาที่ตนชอบเท่านั้น ควรอ่านอย่างหลากหลายเพราะความรู้ในวิชาหนึ่ง อาจนำไปช่วยเสริมในอีกวิชาหนึ่งได้
        aniblue02_tiltupdown_next.gif๒)  การอ่านเพื่อความบันเทิง
        การอ่านเพื่อความบันเทิงได้แก่  การอ่านจากหนังสือประเภทสารคดีท่องเที่ยว นวนิยาย เรื่องสั้น เรื่องแปล การ์ตูน บทประพันธ์ บทเพลง แม้จะเป็นการอ่านเพื่อความบันเทิง แต่ผู้อ่านจะได้ความรู้ที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องด้วย การอ่านประเภทนี้มีข้อควรระวังว่าปัจจุบันหนังสือบางชนิดมีเนื้อหาสาระและรูปภาพที่ขัดต่อวัฒนธรรมและจารีตประเพณีไทย ผู้อ่านจึงควรพิจารณาเลือกให้ดี
        aniblue02_tiltupdown_next.gif๓)  การอ่านเพื่อทราบข่าวสาร ความคิด
        การอ่านเพื่อทราบข่าวสาร ความคิด ได้แก่ การอ่านหนังสือประเภทบทความ บทวิจารณ์ ข่าว รายงานการประชุม ข้อควรระวังในกาอ่านประเภทนี้ คือ ผู้อ่านมักเลือกอ่านสื่อที่สอดคล้องกับความคิดและความชอบของตน จึงทำให้ปิดกั้นการรับรู้และแนวคิดด้านอื่น ๆ ดังนั้น ถ้าจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงต้องเลือกอ่านอย่างหลากหลายไม่เจาะจงอ่านเฉพาะสื่อที่นำเสนอตรงกับความคิดของตน เพราะจะทำให้มีมุมมองที่กว้างขึ้นอันจะช่วยให้เรามีเหตุผลอื่นๆ มาประกอบการวิจารณ์ วิเคราะห์ได้ลุ่มลึกมากขึ้น
        aniblue02_tiltupdown_next.gif๔)  การอ่านเพื่อจุดประสงค์เฉพาะแต่ละครั้ง
        การอ่านเพื่อจุดประสงค์เฉพาะแต่ละครั้ง ได้แก่ การอ่านที่ไม่ได้เจาะจง แต่เป็นการอ่านเป็นครั้งคราวในเรื่องที่ตนสนใจหรืออยากรู้ เช่น การอ่านประกาศต่าง ๆ การอ่านโฆษณา แผ่นพับประชาสัมพันธ์  สลากยา การอ่านสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง การอ่านข่าวสังคม ข่าวบันเทิง ข่าวกีฬา การอ่านประเภทนี้มักใช้เวลาไม่นานและไม่กระทำทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นการอ่านเพื่อให้ความรู้แนะนำไปใช้ หรือนำไปเป็นหัวข้อสนทนา บางครั้งก็เพื่อฆ่าเวลา

ความสำคัญและประโยชน์ของการอ่าน


 การอ่าน  หมายถึง  การแปลความหมายของตัวอักษรที่อ่านออกมาเป็นความรู้ความคิด และเกิดความเข้าใจเรื่องราวที่อ่านตรงกับเรื่อราวที่ผู้เขียนเขียน  ผู้อ่านสามารถนำความรู้  ความคิด  หรือสาระจากเรื่องราวที่อ่านไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้  การอ่านจึงมีความสำคัญ  ดังนี้
       ๑)  การอ่านเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน จำเป็นต้องอ่านหนังสือเพื่อการศึกษาหาความรู้ด้านต่าง ๆ
       ๒)  การอ่านเป็นเครื่องมือช่วยให้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ เพราะสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอ่านไปพัฒนางานของตนได้
       ๓)  การอ่านเป็นเครื่องมือสืบทอดทางวัฒนธรรมของคนรุ่นต่อ ๆ ไป
       ๔)  การอ่านเป็นวิธีการส่งเสริมให้คนมีความคิดอ่านและฉลาดรอบรู้ เพราะประสบการณ์ที่ได้จากการอ่านเมื่อเก็บสะสมเพิ่มพูนนานวันเข้า ก็จะทำให้เกิดความคิด เกิดสติปัญญา เป็นคนฉลาดรอบรู้ได้
       ๕)  การอ่านเป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเพลิดเพลินบันเทิงใจ เป็นวิธีหนึ่งในการแสวงหาความสุขให้กับตนเองที่ง่ายที่สุด และได้ประโยชน์คุ้มค่าที่สุด
       ๖)  การอ่านเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งด้านจิตใจและบุคลิกภาพ เพราะเมื่ออ่านมากย่อมรู้มาก สามารถนำความรู้ไปใช่ในการดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
       ๗)  การอ่านเป็นเครื่องมือในการพัฒนาระบบการเมือง การปกครอง ศาสนา ประวัติศาสตร์ และสังคม
       ๘)  การอ่านเป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนาระบบการสื่อสารและการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ

วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลักการอ่านภาษาไทย

  
ความเป็นมาของภาษาไทย
เริ่มในสมัยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1826  โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงดัดแปลงมาจากอักษรของขอมและอักษรมอญโบราณ นำมาประดิษฐ์ใหม่เป็นตัวอักษรของชาติไทย ระยะแรกพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เรียงแถวกันในบรรทัดเดียวกัน ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ซึ่งบางตัวอยู่ข้างล่าง ข้างบน ข้างหน้า และข้างหลัง ดังปรากฏที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
            ภาษาไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย

ภาษาไทยสำคัญอย่างไร
1.  เป็นเอกลักษณ์ของชาติ
2. เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
3. ใช้ถ่ายถอด เรื่องราว  ขนบธรรมเนียม ประเพณี  ประวัติศาสตร์
4.  เป็นเครื่องมือที่จะใช้ศึกษาเนื้อหาสาระของสาขาวิชาอื่น ๆ
5.  เป็นเครื่องมือสื่อสารของคนในประเทศ
6.  ใช้ประกอบอาชีพได้                                                          
หลักการอ่าน
     การอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจ มิใช่สักแต่อ่านหนังสือออก
เท่านั้นแต่ต้องมีคุณสมบัติของผู้ที่อ่านเป็นด้วยจึงจะทำให้การอ่านนั้นได้ความหมายได้อรรถรส ตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้เขียน และลักษณะของผู้ที่อ่านเป็นนั้น ถือว่าเป็นผู้อ่านที่มี ประสิทธิภาพในการอ่าน
ลักษณะของผู้ที่อ่านเป็น
     ๑.  อ่านแล้วรู้เรื่องราวได้ตลอดแจ่มแจ้ง คือ อ่านแล้วจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ตลอด
ทั้งเรื่อง ไม่ใช่รู้เพียงบางส่วน นอกจากนั้นต้องเข้าใจความหมายในเนื้อหาของเรื่องที่อ่านได้
ถูกต้องด้วย
     ๒.  ได้รับรสชาติจากการอ่าน หมายถึง เมื่ออ่านเรื่องใดก็ตามย่อมเกิดความซาบซึ้ง ตามเนื้อหา สำนวนและวิธีการประพันธ์นั้น ๆ เกิดอารมณ์ร่วมและมองเห็นภาพพจน์ ตามที่ผู้ประพันธ์บรรยาย
     ๓.  วินิจฉัยคุณค่าของหนังสือที่อ่านได้ว่า มีคุณค่าหรือประโยชน์แง่ใด มีคุณค่ามากน้อย เพียงใด หรือควรให้ความสนใจมากน้อยเพียงใด หนังสือใดเหมาะสมกับบุคคลประเภทใด เป็นต้น
     ๔.  รู้จักนำสิ่งที่เป็นประโยชน์จากหนังสือที่อ่านมาใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ หนังสือทุกเรื่องที่อ่านย่อมมีคุณค่า มากบ้างน้อยบ้างในแง่ต่าง ๆ การรู้จักวินิจฉัยและรู้จัก ค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากหนังสือที่อ่านนำมาใช้ได้เหมาะสม เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ของการรับสารที่มีประสิทธิภาพ
     ๕.  รู้จักเลือกหนังสือที่อ่านได้เหมาะสมตามความต้องการในแต่ละโอกาส หรือรู้จัก เลือกหนังสืออ่านได้ตรงตามความมุ่งหมายนั่นเอง
ประเภทของการอ่าน
     การอ่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ อ่านออกเสียง และ อ่านในใจ
     การอ่านออกเสียง หมายถึง การอ่านที่ผู้อื่นสามารถได้ยินเสียงอ่านด้วยการอ่าน ออกเสียงมักไม่นิยมอ่าน เพื่อการรับสารโดยตรง เพียงคนเดียว เว้นแต่ในบางครั้งเราอ่าน บทประพันธ์เป็นท่วงทำนองเพื่อความไพเราะเพลิดเพลินส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว การอ่านออกเสียงมักเป็นการอ่านให้ผู้อื่นฟัง การอ่านประเภทนี้มีหลายโอกาสคือ
๑. การอ่านออกเสียงเพื่อบุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่คุ้นเคย
     เป็นการอ่านที่ไม่เป็นทางการ การอ่านเพื่อบุคคลในครอบครัว เช่น อ่านนิทาน หนังสือพิมพ์ ข่าว จดหมาย ใบปลิว คำโฆษณา ใบประกาศ หนังสือวรรณคดีต่าง ๆ เป็นการอ่านสู่กันฟัง หรืออ่านให้เพื่อนฟัง   อ่านให้คนบางคนที่อ่านหนังสือไม่ออก หรือมองไม่เห็นฟัง   เป็นต้น
๒.การอ่านออกเสียงที่เป็นทางการหรืออ่านในเรื่องของหน้าที่การงาน
     เป็นการอ่านที่เป็นทางการ มีระเบียบแบบแผนเป็นการอ่านที่รัดกุมกว่าการอ่านออกเสียง เพื่อบุคคล ในครอบครัวหรือผู้ที่คุ้นเคย เช่น การอ่านในห้องเรียน อ่านที่ประชุม อ่านรายงาน อ่านในพิธีเปิดงาน อ่านคำปราศรัย อ่านสารในโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ การอ่านของสื่อมวลชน เป็นต้น
     การอ่านออกเสียงให้ผู้อื่นฟัง จะต้องอ่านให้ชัดเจนถูกต้องได้ข้อความครบถ้วนสมบูรณ์ มีลีลาการอ่าน ที่น่าสนใจและน่าติดตามฟังจนจบ
จุดมุ่งหมายในการอ่านออกเสียง
     ๑. เพื่อให้อ่านออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขรวิธี
     ๒. เพื่อให้รู้จักใช้น้ำเสียงบอกอารมณ์และความรู้สึกให้สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่อง ที่อ่าน
     ๓. เพื่อให้เข้าใจเรื่องที่อ่านได้ถูกต้อง
     ๔. เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่านได้ชัดเจน
     ๕. เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน
      ๖. เพื่อเป็นการรับสารและส่งสารวิธีหนึ่ง
หลักการอ่านออกเสียง
     ๑. อ่านออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน
     ๒. อ่านให้ดังพอที่ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง
     ๓. อ่านให้เป็นเสียงพูดโดยธรรมชาติ
     ๔. รู้จักทอดจังหวะและหยุดหายใจเมื่อจบข้อความตอนหนึ่ง ๆ
     ๕. อ่านให้เข้าลักษณะของเนื้อเรื่อง เช่น บทสนทนา ต้องอ่านให้เหมือนการสนทนากัน
อ่านคำบรรยาย พรรณนาความรู้สึก หรือปาฐกถาก็อ่านให้เข้ากับลักษณะของเรื่องนั้น ๆ
     ๖. อ่านออกเสียงและจังหวะให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง เช่น ดุหรือโกรธ ก็ทำเสียง แข็งและเร็ว ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคร่ำครวญ อ้อนวอน ก็ทอดเสียงให้ช้าลง เป็นต้น
     ๗. ถ้าเป็นเรื่องร้อยกรองต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย
          ๗.๑ สัมผัสครุ ลหุ ต้องอ่านให้ถูกต้อง
          ๗.๒ เน้นคำรับสัมผัสและอ่านเอื้อสัมผัสใน เพื่อเพิ่มความไพเราะ
          ๗.๓ อ่านให้ถูกต้องตามจังหวะและทำนองนิยม ตามลักษณะของร้อยกรองนั้น ๆ
     ยังมีการอ่านออกเสียงอีกประการหนึ่ง การอ่านทำนองเสนาะ เป็นลักษณะการอ่าน ออกเสียง ที่มีจังหวะทำนองและออกเสียงสูงต่ำเพื่อให้เกิดความไพเราะ การอ่านทำนอง เสนาะนี้ผู้อ่านจะต้องเข้าใจลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละชนิดและรู้วิธีอ่านออกเสียง สูงต่ำ การทอดเสียง การเอื้อนเสียง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ ด้วย การอ่านทำนองเสนาะนี้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทย ทุกคนควรภูมิใจและรักษาวัฒนธรรมล้ำค่านี้ไว้เพื่อถ่ายทอดสืบต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน
หลักการอ่านทำนองเสนาะ
     ๑. ศึกษาลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละชนิดที่อ่านให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
     ๒. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ เช่น การแบ่งวรรค บทสัมผัส
การออกเสียงสูงต่ำ
     ๓. อ่านออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดเจน
     ๔. ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับบทบาทเนื้อเรื่องที่อ่าน บทโกรธ บทเศร้า ต้องรู้จักใช้เสียง
ให้ผู้ฟัง เกิดอารมณ์คล้อยตาม
     ๕. คำนึงถึงความไพเราะและท่วงทำนองและคำประพันธ์นั้น ๆ โดยการทอดจังหวะ
เอื้อนเสียง เน้นเสียง เป็นต้น
การอ่านในใจ
     การอ่านใจในถือว่าเป็นการอ่านเพื่อพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ อันได้แก่
     -   พัฒนาด้านความรู้ คือ ได้ทั้งความรู้รอบตัวและความรู้เฉพาะด้าน
     -   พัฒนาด้านอารมณ์ ช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน บันเทิงใจคลายความขุ่นมัวต่าง ๆ
     -   พัฒนาคุณธรรม การมีคุณธรรมย่อมเกิดมาจากความจรรโลงใจซึ่งได้จากการอ่าน หนังสือประเภทธรรมะ ชีวประวัติ สารคดี ฯลฯ
     การอ่านในใจจึงเป็นวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เกิดการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข
จุดมุ่งหมายในการอ่านในใจ
     ๑. เพื่อจับใจความได้ถูกต้องรวดเร็ว
     ๒. เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความคิดกว้างขวางลึกซึ้ง เป็นการเสริมสร้าง
ประสบการณ์ชีวิต
     ๓. เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
     ๔. เพื่อให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อ่านให้ผู้อื่นรับรู้ได้โดยไม่ผิดพลาด
หลักการอ่านในใจ
     ๑. ตั้งสมาธิให้แน่วแน่
     ๒. กะระยะช่วงสายตาแต่ละคราวให้กว้างที่สุด จะทำให้อ่านได้รวดเร็ว ไม่ควรมองเป็น
คำ ๆ เพราะทำให้อ่านช้าและจับใจความไม่ได้
     ๓. การเคลื่อนไหวสายตาจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งไม่ควรบ่อยครั้ง แต่ควรเป็นไปอย่างมี
จังหวะและแน่นอน ไม่ควรส่ายตาไปตามเส้นบรรทัด
     ๔. ไม่ควรอ่านย้อนกลับเพื่อทบทวนใหม่บ่อย ๆ ทำให้อ่านช้า
     ๕. การเปลี่ยนบรรทัดต้องให้แม่นยำ พยายามอย่ากลับไปอ่านซ้ำบรรทัดเดิมอีก
     ๖. ไม่ทำปากขมุบขมิบหรือออกเสียงในเวลาอ่าน
     ๗. ไม่ใช้นิ้ว ปากกา หรือดินสอ ชี้ที่ตัวหนังสือทีละตัว
     ๘. จับใจความสำคัญและใจความประกอบให้ได้ พิจารณาให้เข้าใจ
     ๙. บันทึกความรู้ ความเข้าใจ และความคิดไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เรียนภาษาไทยอย่างไรให้สนุก
   ในวิถีแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดน ท่ามกลางสังคมที่มีค่านิยมยอมรับนับถือวัตถุมากกว่าคุณค่าของจิตใจนั้น หลายๆสิ่งกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือ ความเป็นไทยและภาษาไทย ภาษาชาติของเรานั่นเอง ที่กำลังถูกค่านิยมของคนรุ่นใหม่รุกรานจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมอยู่เลย
        ปัญหาการใช้ภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆจนในขณะนี้ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสถานศึกษาอันเป็นแหล่งหล่อหลอมความรู้ก็มิได้ละเว้น ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อของผู้เรียน และสุดท้ายผู้เรียนจึงได้รับความรู้แบบงูๆปลาๆที่จะนำไปใช้ต่อไปอย่างผิดๆ หากเราจะแยกปมปัญหาการใช้ภาษาไทยในโรงเรียนนั้น สามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้       ๒ ประเด็น คือ
        ๑.ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนพานเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน
         ความเป็นครูนั้น แน่นอนการสอนย่อมสำคัญที่สุด ครูบางคนมีความรู้อยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่กลับสอนไม่เป็น ซึ่งครูส่วนใหญ่มิได้ยอมรับปัญหานี้ บางคนสักแต่ว่าสอน แต่ไม่เข้าใจเด็กว่าทำอย่างไร อธิบายอย่างไร เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าข้าวนั้นจะซึมซับเอาความรู้จากท่านไปได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเด็กจึงเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้ภูมิความรู้ที่มีอยู่ในตัวครูเลย   ครูจึงควรหันกลับมายอมรับความจริง และพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับที่เป็นผู้รู้ที่คนทั่วไปยอมรับนับถือ
         ๒. ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากนักเรียน ในสังคมยุคไซเบอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกภาคส่วน เด็กซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองจึงมิได้ให้ความสนใจเพียงแค่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลการศึกษาเท่านั้น หากแต่สนใจกับภาคบันเทิงควบคู่ไปด้วย และโดยแท้จริงแล้ว มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่าการค้นคว้าความรู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กนั้นเป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแช็ทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำ
และการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง