วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การอ่านให้ผู้อื่นฟัง

         การอ่านให้ผู้อื่นฟัง อันได้แก่ ทักษะการหายใจ ทักษะการใช้เสียงและทักษะการทรงตัว เป็นทักษะพื้นฐานให้การอ่านให้ผู้อื่นฟังโดยทั่วไป แต่ถ้าเป็นการอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมนุมชนที่เป็นทางการ ยังต้องมีทักษะอื่น ๆ อีกหลายประการ อาทิ
       
 1) การแต่งกาย
ผู้ทำหน้าที่อ่านทางวิทยุโทรทัศน์ มักเป็นรายการ ข่าว รายการอภิปรายสัมภาษณ์ซึ่งเป็นทางการหรือกึ่งทางการ การแต่งตัวจึงควรพิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ควรให้หรูหรามากนักเพราะมิใช่การแสดงละคร จุดสนใจของผู้ชมอยู่ที่เนื้อหาของการอ่านมิใช่ที่เสื้อผ้าของผู้อ่านสีที่ใช้ไม่ควรลวดลายมากเพราะจะทำให้ผู้ชมตาลาย ไม่ควรใช้เนื้อผ้าที่เป็นมันระยับหรือเครื่องประดับที่แวววาวเกินไป เพราะจะสะท้อนแสงมาก การแต่งหน้าควรให้กลมกลืนกับผิวสิ่งเหล่านี้แม้ไม่เกี่ยวกับการอ่านโดยตรง แต่ก็เป็นส่วนประกอบที่สำคัญเพราะมีผลต่อบุคลิกภาพของผู้อ่านด้วยการอ่านในที่ชุมนุมชน เช่น การอ่านสุนทรพจน์ ก็อาศัยหลักการแต่งกายเช่นเดียวกันคือ สุภาพ ไม่ฉูดฉาดบาดตาจนเกินไป
        
2) กิริยาอาการ
การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์ ผู้ชมจะสังเกตสีหน้าและกิริยาอาการของผู้อ่านได้อย่างถนัดผู้อ่านควรวางสีหน้าอย่างสบายๆ อาจยิ้มน้อย ๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติการเคลื่อนไหวใบหน้าหรือร่างกายควรนุ่มนวล ไม่หลุกหลิก สายตาควรมองกล้องเป็นส่วนใหญ่ผู้ชมจะได้รู้สึกว่าพูดกับตน การวางมือ การนั่ง หรือการยืนควรสุภาพและผ่อยคลาย ไม่ระมัดระวังจนกลายเป็นการเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่สบายตา
        
3) การใช้สายตา
การอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมชน ต่างกับการอ่านทางวิทยุกระจายเสียงหรืออ่านในกลุ่มมิตรสหาย การอ่านที่ปรากฏอย่างเป็นทางการนั้น ผู้อ่านจะต้องเงยหน้าสบตาผู้ชมเป็นระยะๆ ฉะนั้น จึงต้องมีทักษะการกรวดสายตาอ่านอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษมิใช่ก้มอ่านตลอดหรือเงยหน้าแล้วเสียจังหวะการอ่าน ไม่ว่าจะก้มหน้าหรือเงยหน้า การอ่านจะต้องราบรื่น ไม่สะดุดหรือติดขัดจนเป็นที่สังเกตได้ หากมีอุปสรรคในการอ่าน เช่น กระแอมหรือสำลัก ควรกล่าวคำขออภัยแล้วอ่านต่อไป ไม่ควรตกใจจนลืมว่าอ่านถึงที่ใด เพราะจะทำให้หยุดชะงักอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น