การอ่านในใจเป็นการอ่านที่ต้องไม่ออกเสียงในการอ่าน ผู้อ่านอ่านตัวหนังสือแล้วเก็บความ แปลความตามความเข้าใจของผู้อ่าน จุดประสงค์ของการอ่านในใจเป็นการอ่านเพื่อรับสารเพียงประการเดียว
หลักการอ่านในใจมีดังนี้
1. กำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่าน
การกำหนดจุดมุ่งหมายในการอ่านให้ชัดเจนก็เพื่อให้อ่านได้ตรงจุดประสงค์ เช่น ถ้าอ่านเพื่อความรู้ก็ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้และจดจำเรื่องให้ได้ ถ้าอ่านเพื่อความบันเทิงก็ไม่จำเป็นต้องจำเรื่องทั้งหมดให้ได้เพียงแค่รู้สึกสนุกสนานและผ่อนคลายเมื่ออ่านเท่านั้น และถ้าอ่านเพื่อนำไปใช้ก็ต้องอ่านอย่างละเอียด และทำความเข้าใจให้ชัดเจนเพื่อจะสามารถนำไปใช้หรือปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
2. มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน
ถ้าผู้อ่านมีประสบการณ์หรือรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านจะทำให้เข้าใจเรื่องได้ดีขึ้น เช่น เมื่ออ่านเรื่องเกี่ยวกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ควรมีความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยอยุธยาบ้าง เพื่อให้เข้าใจความเป็นมาของสถานที่ต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วย เป็นต้น
3. รู้และเข้าใจความหมายของคำศัพท์หรือสำนวน
การรู้ความหมายของคำศัพท์หรือสำนวนที่พบในการอ่านจะช่วยให้เข้าใจข้อความที่อ่านได้มากขึ้น เช่น “สิ่งที่สำคัญที่สุดในจริยวัตรของมนุษย์คือ ต้องพยายามที่จะไม่ให้เวลาล่วงไปโดยเสียประโยชน์ เราต้องตีราคาคุณค่าของเวลาให้สูงมาก การเสียเวลาก็เท่ากับเสียทรัพย์ เสียโอกาส เสียหนทางแห่งความก้าวหน้า และเป็นการสูญเสียที่เราไม่สามารถจะโทษผู้อื่นได้ นอกจากตัวเราเอง
คำศัพท์ จริยวัตร หมายถึง หน้าที่ที่พึงประพฤติปฏิบัติ
ล่วง หมายถึง ผ่านข้ามจากจุดหนึ่งเข้าไปยังอีกจุดหนึ่ง
สำนวน ตีราคา หมายถึง ประเมินค่า ให้ราคาสิ่งนั้น ๆ
นอกจากการเข้าใจคำศัพท์และสำนวนที่จะช่วยให้เราอ่านได้อย่างคล่องแคล่วรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว บางครั้งในข้อความที่เราอ่านก็มีคำศัพท์บางคำที่เราไม่พบในพจนานุกรม แต่ข้อความแวดล้อมในเรื่องที่เราอ่านนั้นก็ช่วยให้เราสามารถเข้าใจคำศัพท์นั้นได้ คำหรือข้อความแวดล้อมที่ช่วยเราให้เข้าใจความหมาย เราเรียกว่า “บริบท” เช่น
คำเช้าเอากรวดกวาดเตียน เหนื่อยยากพากเพียร
เรียนธรรมบำเพ็งเคร่งครัด
(กาพย์พระไชยสุริยา สุนทรภู่)
เราอาจเข้าใจความหมายของคำว่า “กรวด” ได้ว่าหมายถึง ไม้กวาด เมื่อพอคำกริยา “กวาด” ที่ตามมา ส่วนคำว่า “บำเพ็ง” เราก็เข้าใจว่าหมายถึง บำเพ็ญ ปฏิบัติธรรม จากคำว่า เรียนธรรม ที่อยู่ในวรรคเดียวกัน
4. จับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้
เมื่ออ่านเรื่องแล้วสามารถตอบคำถามได้ว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร เช่น
“นักล้วงกระเป๋าชอบสถานที่ซึ่งมีผู้คนเบียดเสียดกันจริงหรือ คำตอบคือ ไม่จำเป็น มนุษย์มีสัญชาตญาณที่ไม่ต้องการให้ใครมารุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ดังนั้นในบริเวณแออัด ผู้คนจึงมักระวังตัวมากขึ้น นักล้วงกระเป๋ามืออาชีพชอบเหยื่อซึ่งปล่อยตัวตามสบายและกำลังจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากว่า
ร้านขายเสื้อผ้าเป็นสถานที่เหมาะสำหรับนักล้วงกระเป๋าอย่างผม เพราะองค์ประกอบต่าง ๆ ภายในร้านสามารถใช้เป็นฉากกำบังการทำงานได้อย่างดี แถมลูกค้าจำนวนมากเดินพลุกพล่านหมุนเวียนบริเวณชั้นวางสินค้าตลอดเวลา ซึ่งช่วยหันเหความสนใจเวลาพวกเขาหยิบคลี่และพับเก็บสินค้าเข้าที่ หากมียามรักษาความปลอดภัยในเครื่องแบบเดินตรวจตราไปมาให้เห็นจะยิ่งเป็นผลดี เพราะเหยื่อจะละเลยไม่ระมัดระวังซึ่งเปิดโอกาสให้นักล้วงทำงานง่ายขึ้น”
(กลเม็ดนักล้วงกระเป๋า รีดเดอร์ส ไดเจสท์ สรรสาระ)
ใจความสำคัญของเรื่องคือ นักล้วงกระเป๋าชอบล้วงกระเป๋าในที่ที่เหยื่อปล่อยตัวตามสบายและกำลังจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น ในร้านขายเสื้อผ้า เป็นต้น
5. วินิจฉัยสารหรือตีความเรื่องที่อ่านได้
การตีความเรื่องที่อ่าน คือ สามารถพิจารณาเรื่องที่อ่านให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก การตีความต้องวิเคราะห์และบอกได้ว่าสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อให้ผู้อ่านทราบมีข้อคิดหรือเจตนาอื่นในเรื่องนั้นอย่างไร ซึ่งทำได้หลายวิธี เช่น การอนุมานหรือสรุปความจากเรื่องที่อ่าน การทำนายเหตุการณ์หรือเรื่องราวที่จะเกิดขึ้น การคัดเลือกและจัดรวบรวม เป็นต้น ตัวอย่างการตีความเรื่องที่อ่าน เช่น
โคควายวายชีพได้ เขาหนัง
เป็นสิ่งเป็นอันยัง อยู่ไซร้
คนเด็ดดับสูญสัง- ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้ แต่ร้ายกับดี
(โคลงโลกนิติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร)
ตีความจากเรื่องที่อ่านได้ว่า เราควรทำความดีเพราะสิ่งที่เหลืออยู่หลังจากที่เราตายไปแล้วคือความดีและความชั่วที่เราได้ทำไว้เท่านั้น
การอ่านในใจเป็นทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวันเสมอ เมื่อเราฝึกอ่านอย่างต่อเนื่องก็จะทำให้เรามีพัฒนาการในการอ่านได้ดีขึ้นเป็นลำดับ และนำไปสู่การอ่านในระดับที่สูงขึ้นต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น