วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

หลักการอ่านภาษาไทย

  
ความเป็นมาของภาษาไทย
เริ่มในสมัยสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. 1826  โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระองค์ทรงดัดแปลงมาจากอักษรของขอมและอักษรมอญโบราณ นำมาประดิษฐ์ใหม่เป็นตัวอักษรของชาติไทย ระยะแรกพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์ เรียงแถวกันในบรรทัดเดียวกัน ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม ซึ่งบางตัวอยู่ข้างล่าง ข้างบน ข้างหน้า และข้างหลัง ดังปรากฏที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
            ภาษาไทย เป็นภาษาทางการของประเทศไทย และภาษาแม่ของชาวไทย และชนเชื้อสายอื่นในประเทศไทย ภาษาไทยเป็นภาษาในกลุ่มภาษาไต ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของตระกูลภาษาไท-กะได สันนิษฐานว่า ภาษาในตระกูลนี้มีถิ่นกำเนิดจากทางตอนใต้ของประเทศจีน และนักภาษาศาสตร์บางท่านเสนอว่า ภาษาไทยน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติก ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียน ตระกูลภาษาจีน-ทิเบต
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีระดับเสียงของคำแน่นอนหรือวรรณยุกต์เช่นเดียวกับภาษาจีน และออกเสียงแยกคำต่อคำ เป็นที่ลำบากของชาวต่างชาติเนื่องจาก การออกเสียงวรรณยุกต์ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคำ และการสะกดคำที่ซับซ้อน นอกจากภาษากลางแล้ว ในประเทศไทยมีการใช้ ภาษาไทยถิ่นอื่นด้วย

ภาษาไทยสำคัญอย่างไร
1.  เป็นเอกลักษณ์ของชาติ
2. เป็นมรดกทางวัฒนธรรม
3. ใช้ถ่ายถอด เรื่องราว  ขนบธรรมเนียม ประเพณี  ประวัติศาสตร์
4.  เป็นเครื่องมือที่จะใช้ศึกษาเนื้อหาสาระของสาขาวิชาอื่น ๆ
5.  เป็นเครื่องมือสื่อสารของคนในประเทศ
6.  ใช้ประกอบอาชีพได้                                                          
หลักการอ่าน
     การอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจ มิใช่สักแต่อ่านหนังสือออก
เท่านั้นแต่ต้องมีคุณสมบัติของผู้ที่อ่านเป็นด้วยจึงจะทำให้การอ่านนั้นได้ความหมายได้อรรถรส ตรงตามจุดมุ่งหมายของผู้เขียน และลักษณะของผู้ที่อ่านเป็นนั้น ถือว่าเป็นผู้อ่านที่มี ประสิทธิภาพในการอ่าน
ลักษณะของผู้ที่อ่านเป็น
     ๑.  อ่านแล้วรู้เรื่องราวได้ตลอดแจ่มแจ้ง คือ อ่านแล้วจับใจความของเรื่องที่อ่านได้ตลอด
ทั้งเรื่อง ไม่ใช่รู้เพียงบางส่วน นอกจากนั้นต้องเข้าใจความหมายในเนื้อหาของเรื่องที่อ่านได้
ถูกต้องด้วย
     ๒.  ได้รับรสชาติจากการอ่าน หมายถึง เมื่ออ่านเรื่องใดก็ตามย่อมเกิดความซาบซึ้ง ตามเนื้อหา สำนวนและวิธีการประพันธ์นั้น ๆ เกิดอารมณ์ร่วมและมองเห็นภาพพจน์ ตามที่ผู้ประพันธ์บรรยาย
     ๓.  วินิจฉัยคุณค่าของหนังสือที่อ่านได้ว่า มีคุณค่าหรือประโยชน์แง่ใด มีคุณค่ามากน้อย เพียงใด หรือควรให้ความสนใจมากน้อยเพียงใด หนังสือใดเหมาะสมกับบุคคลประเภทใด เป็นต้น
     ๔.  รู้จักนำสิ่งที่เป็นประโยชน์จากหนังสือที่อ่านมาใช้ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ หนังสือทุกเรื่องที่อ่านย่อมมีคุณค่า มากบ้างน้อยบ้างในแง่ต่าง ๆ การรู้จักวินิจฉัยและรู้จัก ค้นหาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากหนังสือที่อ่านนำมาใช้ได้เหมาะสม เป็นวิธีการอย่างหนึ่ง ของการรับสารที่มีประสิทธิภาพ
     ๕.  รู้จักเลือกหนังสือที่อ่านได้เหมาะสมตามความต้องการในแต่ละโอกาส หรือรู้จัก เลือกหนังสืออ่านได้ตรงตามความมุ่งหมายนั่นเอง
ประเภทของการอ่าน
     การอ่านแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ อ่านออกเสียง และ อ่านในใจ
     การอ่านออกเสียง หมายถึง การอ่านที่ผู้อื่นสามารถได้ยินเสียงอ่านด้วยการอ่าน ออกเสียงมักไม่นิยมอ่าน เพื่อการรับสารโดยตรง เพียงคนเดียว เว้นแต่ในบางครั้งเราอ่าน บทประพันธ์เป็นท่วงทำนองเพื่อความไพเราะเพลิดเพลินส่วนตัว แต่ส่วนใหญ่แล้ว การอ่านออกเสียงมักเป็นการอ่านให้ผู้อื่นฟัง การอ่านประเภทนี้มีหลายโอกาสคือ
๑. การอ่านออกเสียงเพื่อบุคคลในครอบครัวหรือผู้ที่คุ้นเคย
     เป็นการอ่านที่ไม่เป็นทางการ การอ่านเพื่อบุคคลในครอบครัว เช่น อ่านนิทาน หนังสือพิมพ์ ข่าว จดหมาย ใบปลิว คำโฆษณา ใบประกาศ หนังสือวรรณคดีต่าง ๆ เป็นการอ่านสู่กันฟัง หรืออ่านให้เพื่อนฟัง   อ่านให้คนบางคนที่อ่านหนังสือไม่ออก หรือมองไม่เห็นฟัง   เป็นต้น
๒.การอ่านออกเสียงที่เป็นทางการหรืออ่านในเรื่องของหน้าที่การงาน
     เป็นการอ่านที่เป็นทางการ มีระเบียบแบบแผนเป็นการอ่านที่รัดกุมกว่าการอ่านออกเสียง เพื่อบุคคล ในครอบครัวหรือผู้ที่คุ้นเคย เช่น การอ่านในห้องเรียน อ่านที่ประชุม อ่านรายงาน อ่านในพิธีเปิดงาน อ่านคำปราศรัย อ่านสารในโอกาสที่สำคัญต่าง ๆ การอ่านของสื่อมวลชน เป็นต้น
     การอ่านออกเสียงให้ผู้อื่นฟัง จะต้องอ่านให้ชัดเจนถูกต้องได้ข้อความครบถ้วนสมบูรณ์ มีลีลาการอ่าน ที่น่าสนใจและน่าติดตามฟังจนจบ
จุดมุ่งหมายในการอ่านออกเสียง
     ๑. เพื่อให้อ่านออกเสียงได้ถูกต้องตามอักขรวิธี
     ๒. เพื่อให้รู้จักใช้น้ำเสียงบอกอารมณ์และความรู้สึกให้สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่อง ที่อ่าน
     ๓. เพื่อให้เข้าใจเรื่องที่อ่านได้ถูกต้อง
     ๔. เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจเนื้อเรื่องที่อ่านได้ชัดเจน
     ๕. เพื่อให้ผู้อ่านและผู้ฟังเกิดความเพลิดเพลิน
      ๖. เพื่อเป็นการรับสารและส่งสารวิธีหนึ่ง
หลักการอ่านออกเสียง
     ๑. อ่านออกเสียงให้ถูกต้องและชัดเจน
     ๒. อ่านให้ดังพอที่ผู้ฟังได้ยินทั่วถึง
     ๓. อ่านให้เป็นเสียงพูดโดยธรรมชาติ
     ๔. รู้จักทอดจังหวะและหยุดหายใจเมื่อจบข้อความตอนหนึ่ง ๆ
     ๕. อ่านให้เข้าลักษณะของเนื้อเรื่อง เช่น บทสนทนา ต้องอ่านให้เหมือนการสนทนากัน
อ่านคำบรรยาย พรรณนาความรู้สึก หรือปาฐกถาก็อ่านให้เข้ากับลักษณะของเรื่องนั้น ๆ
     ๖. อ่านออกเสียงและจังหวะให้เป็นไปตามเนื้อเรื่อง เช่น ดุหรือโกรธ ก็ทำเสียง แข็งและเร็ว ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคร่ำครวญ อ้อนวอน ก็ทอดเสียงให้ช้าลง เป็นต้น
     ๗. ถ้าเป็นเรื่องร้อยกรองต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้ด้วย
          ๗.๑ สัมผัสครุ ลหุ ต้องอ่านให้ถูกต้อง
          ๗.๒ เน้นคำรับสัมผัสและอ่านเอื้อสัมผัสใน เพื่อเพิ่มความไพเราะ
          ๗.๓ อ่านให้ถูกต้องตามจังหวะและทำนองนิยม ตามลักษณะของร้อยกรองนั้น ๆ
     ยังมีการอ่านออกเสียงอีกประการหนึ่ง การอ่านทำนองเสนาะ เป็นลักษณะการอ่าน ออกเสียง ที่มีจังหวะทำนองและออกเสียงสูงต่ำเพื่อให้เกิดความไพเราะ การอ่านทำนอง เสนาะนี้ผู้อ่านจะต้องเข้าใจลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละชนิดและรู้วิธีอ่านออกเสียง สูงต่ำ การทอดเสียง การเอื้อนเสียง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของคำประพันธ์ชนิดต่าง ๆ ด้วย การอ่านทำนองเสนาะนี้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาช้านาน ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทย ทุกคนควรภูมิใจและรักษาวัฒนธรรมล้ำค่านี้ไว้เพื่อถ่ายทอดสืบต่อกันไปชั่วลูกชั่วหลาน
หลักการอ่านทำนองเสนาะ
     ๑. ศึกษาลักษณะบังคับของคำประพันธ์แต่ละชนิดที่อ่านให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
     ๒. อ่านให้ถูกต้องตามลักษณะของคำประพันธ์ชนิดนั้น ๆ เช่น การแบ่งวรรค บทสัมผัส
การออกเสียงสูงต่ำ
     ๓. อ่านออกเสียงให้ถูกต้อง ชัดเจน
     ๔. ใช้น้ำเสียงที่เหมาะสมกับบทบาทเนื้อเรื่องที่อ่าน บทโกรธ บทเศร้า ต้องรู้จักใช้เสียง
ให้ผู้ฟัง เกิดอารมณ์คล้อยตาม
     ๕. คำนึงถึงความไพเราะและท่วงทำนองและคำประพันธ์นั้น ๆ โดยการทอดจังหวะ
เอื้อนเสียง เน้นเสียง เป็นต้น
การอ่านในใจ
     การอ่านใจในถือว่าเป็นการอ่านเพื่อพัฒนาตนเองในด้านต่าง ๆ อันได้แก่
     -   พัฒนาด้านความรู้ คือ ได้ทั้งความรู้รอบตัวและความรู้เฉพาะด้าน
     -   พัฒนาด้านอารมณ์ ช่วยให้เกิดความเพลิดเพลิน บันเทิงใจคลายความขุ่นมัวต่าง ๆ
     -   พัฒนาคุณธรรม การมีคุณธรรมย่อมเกิดมาจากความจรรโลงใจซึ่งได้จากการอ่าน หนังสือประเภทธรรมะ ชีวประวัติ สารคดี ฯลฯ
     การอ่านในใจจึงเป็นวิธีการศึกษาอย่างหนึ่ง เพื่อเรียนรู้และเข้าใจประสบการณ์ใหม่ ๆ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เกิดการปรับตัวเพื่อการดำรงชีวิตอย่างเป็นสุข
จุดมุ่งหมายในการอ่านในใจ
     ๑. เพื่อจับใจความได้ถูกต้องรวดเร็ว
     ๒. เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจและความคิดกว้างขวางลึกซึ้ง เป็นการเสริมสร้าง
ประสบการณ์ชีวิต
     ๓. เพื่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
     ๔. เพื่อให้สามารถถ่ายทอดสิ่งที่อ่านให้ผู้อื่นรับรู้ได้โดยไม่ผิดพลาด
หลักการอ่านในใจ
     ๑. ตั้งสมาธิให้แน่วแน่
     ๒. กะระยะช่วงสายตาแต่ละคราวให้กว้างที่สุด จะทำให้อ่านได้รวดเร็ว ไม่ควรมองเป็น
คำ ๆ เพราะทำให้อ่านช้าและจับใจความไม่ได้
     ๓. การเคลื่อนไหวสายตาจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งไม่ควรบ่อยครั้ง แต่ควรเป็นไปอย่างมี
จังหวะและแน่นอน ไม่ควรส่ายตาไปตามเส้นบรรทัด
     ๔. ไม่ควรอ่านย้อนกลับเพื่อทบทวนใหม่บ่อย ๆ ทำให้อ่านช้า
     ๕. การเปลี่ยนบรรทัดต้องให้แม่นยำ พยายามอย่ากลับไปอ่านซ้ำบรรทัดเดิมอีก
     ๖. ไม่ทำปากขมุบขมิบหรือออกเสียงในเวลาอ่าน
     ๗. ไม่ใช้นิ้ว ปากกา หรือดินสอ ชี้ที่ตัวหนังสือทีละตัว
     ๘. จับใจความสำคัญและใจความประกอบให้ได้ พิจารณาให้เข้าใจ
     ๙. บันทึกความรู้ ความเข้าใจ และความคิดไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

เรียนภาษาไทยอย่างไรให้สนุก
   ในวิถีแห่งเทคโนโลยีและการสื่อสารไร้พรมแดน ท่ามกลางสังคมที่มีค่านิยมยอมรับนับถือวัตถุมากกว่าคุณค่าของจิตใจนั้น หลายๆสิ่งกำลังเจริญก้าวหน้าไปอย่างไม่มีขีดจำกัด ในขณะที่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่กำลังดำดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งหายนะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็คือ ความเป็นไทยและภาษาไทย ภาษาชาติของเรานั่นเอง ที่กำลังถูกค่านิยมของคนรุ่นใหม่รุกรานจนแทบไม่หลงเหลือเค้าเดิมอยู่เลย
        ปัญหาการใช้ภาษาไทยนั้นเกิดขึ้นจากจุดเล็กๆจนในขณะนี้ลุกลามไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ในสถานศึกษาอันเป็นแหล่งหล่อหลอมความรู้ก็มิได้ละเว้น ภาษาไทยกลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อของผู้เรียน และสุดท้ายผู้เรียนจึงได้รับความรู้แบบงูๆปลาๆที่จะนำไปใช้ต่อไปอย่างผิดๆ หากเราจะแยกปมปัญหาการใช้ภาษาไทยในโรงเรียนนั้น สามารถแยกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ได้       ๒ ประเด็น คือ
        ๑.ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจาก ครู เนื่องจากครู คือ ผู้ประสาทวิชา เป็นผู้ให้ความรู้แก่ศิษย์ ดังนั้นความรู้ในด้านต่างๆ เด็กๆจึงมักจะได้รับมาจากครูเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่ครูบางคนนั้นมีความรู้แต่ไม่แตกฉาน โดยเฉพาะวิชาภาษาไทยเป็นวิชาที่มีความละเอียดอ่อน และมีส่วนประกอบแยกย่อยอย่างละเอียดลออ เมื่อครูไม่เข้าใจภาษาไทยอย่างกระจ่าง จึงทำให้นักเรียนไม่เข้าใจตามไปด้วย จนพานเกลียดภาษาไทยไปในที่สุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ปรากฏให้เห็นอยู่มากมายในปัจจุบัน
         ความเป็นครูนั้น แน่นอนการสอนย่อมสำคัญที่สุด ครูบางคนมีความรู้อยู่ในหัวเต็มไปหมดแต่กลับสอนไม่เป็น ซึ่งครูส่วนใหญ่มิได้ยอมรับปัญหานี้ บางคนสักแต่ว่าสอน แต่ไม่เข้าใจเด็กว่าทำอย่างไร อธิบายอย่างไร เด็กซึ่งเปรียบเสมือนผ้าข้าวนั้นจะซึมซับเอาความรู้จากท่านไปได้มากที่สุด การทำความเข้าใจเด็กจึงเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญไม่แพ้ภูมิความรู้ที่มีอยู่ในตัวครูเลย   ครูจึงควรหันกลับมายอมรับความจริง และพยายามปรับปรุงแก้ไขตนเองให้เหมาะสมกับที่เป็นผู้รู้ที่คนทั่วไปยอมรับนับถือ
         ๒. ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากนักเรียน ในสังคมยุคไซเบอร์ ซึ่งสามารถเข้าไปใช้บริการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ทุกภาคส่วน เด็กซึ่งเป็นวัยที่อยากรู้อยากลองจึงมิได้ให้ความสนใจเพียงแค่การศึกษาค้นคว้าข้อมูลการศึกษาเท่านั้น หากแต่สนใจกับภาคบันเทิงควบคู่ไปด้วย และโดยแท้จริงแล้ว มักจะให้ความสำคัญกับประเด็นหลังมากกว่าการค้นคว้าความรู้เสียด้วยซ้ำ ดังนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของเด็กนั้นเป็นปมปัญหาสำคัญยิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
ปัญหาการใช้ภาษาไทยที่เกิดจากอินเทอร์เน็ตนั้นเริ่มลุกลามมาจากโปรแกรมแช็ทรูมและเกมออนไลน์ ซึ่งดูคล้ายเป็นการสนทนากันธรรมดา แต่เมื่อได้เข้าไปสัมผัสแล้ว มิใช่เลย การสนทนาอันไม่มีขีดจำกัดของภาษาทำให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย ดังเช่นที่พบตามหน้าหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน และในขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาให้แก่วงการภาษาไทยด้วย นั่นคือการกร่อนคำ
และการสร้างคำใหม่ให้มีความหมายแปลกไปจากเดิม หรืออย่างที่เรียกว่าภาษาเด็กแนวนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น